ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานแก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทนและผู้ประกันตนทุพพลภาพ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม โดยรับผิดชอบพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อช่วยเหลือให้ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพในการทำงานและผู้ประกันตนทุพพลภาพได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เหมาะสม สามารถกลับเข้าทำงานในสถานประกอบการหรือประกอบอาชีพอิสระเลี้ยงดูตนเองได้ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวและสังคม
...ประวัติความเป็นมา...
นับตั้งแต่ประเทศไทย ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการผลิต
จากภาคเกษตร เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงผลักดันให้แรงงานภาคเกษตรกรรมเคลื่อนย้าย
มาทำงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เมื่อมีการแข่งขันทางเศรษฐกิจ มีการทำงานแข่งกับเวลา
มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการผลิต แต่ในการศึกษาของบุคลากรผู้ใช้แรงงานรวมทั้งมาตรฐาน
การป้องกันอันตรายหรือการปรับปรุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัยยังพัฒนาไม่ทันกับความ
เจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านเทคโนโลยีในกระบวนการการผลิต ทำให้ลูกจ้างผู้ใช้แรงงานต้องประสบ
อันตรายจากการทำงาน ต้องสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน สูญเสียอวัยวะ พิการหรือทุพพลภาพ
ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามมา ในปี 2517 กรมแรงงาน กระทรวง
มหาดไทยได้จัดตั้งสำนักงานกองทุนเงินทดแทน เพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบ
อันตรายเนื่องจากการทำงาน เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าทดแทน และค่าทำศพ แต่ไม่มีการจ่าย
ประโยชน์เป็นค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ซึ่งผลจากการประสบอันตรายจากการทำงาน
ลูกจ้างต้องสูญเสียอวัยวะ พิการหรือทุพพลภาพ มีผลทางจิตใจตลอดจนพฤติกรรมและอารมณ์
บางครั้งไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ นอกจากเกิดการสูญเสียเชิงเศรษฐกิจแล้วยังก่อให้เกิดปัญหา
ครอบครัวและสังคมตามมา ซึ่งรัฐบาลได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้
นายอำพล สิงห์โกวินท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน คนแรกของกรมแรงงาน
ขณะนั้นจึงคิดหาทางขยายขอบเขตการช่วยเหลือลูกจ้างที่ประสบอันตรายจากการทำงาน
ให้ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางด้านร่างกาย และด้านอาชีพเพื่อให้ลูกจ้างได้มีชีวิตใหม่
ให้สามารถกลับไปประกอบอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ตามความเหมาะสมของสภาพ
ร่างกาย อยู่ในสังคมได้ด้วยความมั่นใจ หากแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จ นางอัมพร จุณณานนท์
ได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนเงินทดแทน จึงรับช่วงดำเนินการต่อ
ในปี 2524 นายอำพล สิงหโกวินท์ ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมแรงงานและ
นายวิชิต แสงทอง เป็นอธิบดี ได้ร่วมกันเสนอขอความช่วยเหลือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
ของญี่ปุ่นในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย กรมแรงงานได้ให้การต้อนรับ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนและให้ประเทศไทยทำโครงการขอรับการช่วยเหลือ
แต่กว่าจะได้รับการช่วยเหลือต้องมีการเจรจากับคณะผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นร่วมกันหารือทั้งคณะญี่ปุ่น
และคณะคนไทยในที่สุดรัฐบาลญี่ปุ่น โดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)
ตกลงให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ในการก่อสร้างอาคารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานและติดตั้ง
เครื่องจักรอุปกรณ์เป็นมูลค่า 104 ล้านบาท และรัฐบาลไทยจัดสรรงบประมาณเป็นค่าที่ดิน รั้วและ
สาธารณูปโภคจำนวน 47 ล้านบาท บนเนื้อที่ 37 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลบางพูน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
และได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 กรกฎาคม 2528 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน และนับเป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานแห่งแรกในประเทศไทย
ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในโครงการจัดตั้ง
ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาค เพื่อขยายการบริการให้เพียงพอต่อจำนวนลูกจ้าง
ที่ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานและผู้ประกันตนทุพพลภาพให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาค
ของประเทศ ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานแล้ว ดังนี้คือ
1. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542
เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 บนพื้นที่ 42 ไร่ 3 งาน 49 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ที่
ตำบลพนานิคม อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง โดยใช้งบประมาณค่าก่อสร้างจำนวน 196 ล้านบาท
ค่าวัสดุครุภัณฑ์อีก 23 ล้านบาทและสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ประจำภาคตะวันออก จังหวัดระยอง
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2547
2. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 3 ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ
พระเจ้าอยู่หัวฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มีการลงนามบันทึกข้อตกลงการก่อสร้างอาคารศูนย์ฯ
ระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับกองทัพบกเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2549 บนพื้นที่ 27 ไร่
ตั้งอยู่ที่ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยใช้งบประมาณค่าก่อสร้างและการจัดหา
อุปกรณ์จำนวน 249 ล้านบาท โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณา
โปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน
ประจำภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2554
3. ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 4 มีพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารศูนย์ฯ
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2553 โดยอดีตปลัดกระทรวงแรงงาน (นายสมชาย ชุ่มรัตน์)
เป็นประธานในพิธี การก่อสร้างใช้ที่ดินสาธารณะประโยชน์ “โคกสร้างหล่ม” เลขที่ 37 หมู่ที่ 1
ตำบลโคกสี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ใช้สอย 53 ไร่ 2 งาน งบประมาณการก่อสร้างและการจัดหาอุปกรณ์จำนวน 276 ล้านบาท เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 12 สิงหาคม 2547 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2557
เปิดประตูงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน สู่ภาคใต้
ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานประจำภาค 5 เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานแห่งที่ 5
ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งได้ดำเนินการตามเจตนารมณ์ในการขยายการให้บริการแก่ลูกจ้าง
อย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนที่ดินในการก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าขาด
และองค์การบริหารส่วนตำบลปากรออนุญาตให้ใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่บ้านสว่างอารมณ์ บริเวณ
หมู่ที่ 4 ตำบลปากรอ และหมู่ที่ 5 ตำบลป่าขาด อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา เนื้อที่ 53 ไร่ 3 งาน
3.8 ตารางวา โครงการก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 5 แห่งนี้ได้รับอนุมัติจาก
สำนักนายกรัฐมนตรี ให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องใน
โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 และสำนักงานประกันสังคม
ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด รัตภูมิค้าไม้และวัสดุก่อสร้าง เป็นผู้ดำเนินการตามสัญญา
เลขที่ จ 091/2556 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ในวงเงินงบประมาณจำนวน 331,152,000.- บาท
(สามร้อยสามสิบเอ็ดล้านหนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันบาทถ้วน)