กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคม คืออะไร ? 

  กองทุนประกันสังคม คือ หลักประกันในการดำรงชีวิตสำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมในโครงการต่างๆ ของกองทุนผ่านการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนโดยนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ทั้งกรณีการเจ็บป่วยไม่สามารถทำงานได้ การคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชรา ภาพ และว่างงาน โดยกองทุนประกันสังคมมีหน่วยงานรัฐเป็นผู้บริหารจัดการผ่านกลไกไตรภาคี

บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองจากกองทุนประกันสังคม

  ผู้ประกันตนหรือสมาชิกส่วนใหญ่ของกองทุนประกันสังคมอยู่ในโครงการประกันสังคมภาคบังคับสำหรับลูกจ้างในภาคเอกชน หรือ ผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกประมาณ 11.6 ล้านคน กองทุนประกันสังคมยังมีโครงการภาคสมัครใจอีก 2 โครงการสำหรับอดีตผู้ประกันตนมาตรา 33 และคนไทยทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมภาคบังคับ โครงการแรกเป็นโครงการส่วนต่อขยายจากโครงการภาคบังคับ หรือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 39 ซึ่งผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ที่สัญญาจ้างงานและสถานะการเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับสิ้นสุดลง และสมัครเข้าร่วมโครงการมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน โครงการที่สองเป็นโครงการภาคสมัครใจสำหรับบุคคลทั่วไป หรือ ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ มาตรา 40 ซึ่งกองทุนประกันสังคมเปิดโอกาสให้พลเมืองไทยทั่วไปหรือบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระต่างๆ สามารถมีหลักประกันในชีวิตที่มั่นคงได้

กฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกองทุนประกันสังคม

  กองทุนประกันสังคมถูกจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งล่าสุดในปี 2559 อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ ปีได้มีการแก้ไขกฎหมายลูก และระเบียบต่างๆ เพื่อปรับปรุงมาตรฐานสิทธิประโยชน์ การบริการ และการคุ้มครองให้เพิ่มขึ้นอยู่เสมอเพื่อสอดรับกับสภาพสถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ความเป็นมาของกองทุนประกันสังคม

  พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นผลมาจากความพยายามจากภาคส่วนต่างๆ หลายปี เพื่อที่จะให้มีระบบความมั่นคงทางสังคมที่ครอบคลุมโดยภาครัฐ หลักการสำคัญของกองทุนประกันสังคมคือการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขผ่านการจ่ายเงินประกัน พระราชบัญญัติประกันสังคมเป็นกฎหมายที่วางรากฐานการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ครอบคลุมของระบบประกันสังคมไทยซึ่งจะเห็นได้จากพัฒนาการด้านสิทธิประโยชน์และการขยายความคุ้มครอง ในช่วงเริ่มต้น ระบบประกันสังคมไทยประกอบด้วย สิทธิประโยชน์ 4 สาขา ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต สำหรับลูกจ้างในสถานประกอบการภาคเอกชนที่มีจำนวนลูกจ้างตั้งแต่ 20 คน ในช่วงที่สอง ตั้งแต่เดือนกันยายน 2536 ได้มีการขยายความคุ้มครองไปสู่สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คน ถัดมาในช่วงที่สาม ได้มีการเพิ่มโครงการภาคสมัครใจ ในปี 2537 ช่วงที่สี่ ในปี 2541 ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ ในช่วงที่ห้า ตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 ได้มีการขยายความคุ้มครองไปสู่สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คน และในช่วงที่หก ตั้งแต่ปี 2547 ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน